การปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษนั้นมีหายสาเหตุแต่ที่เราประสบ ณ ตอนนี้ มีดังนี้
1. การขาดครูสอนภาษาอังกฤษเป็นจำนวนมาก ทำให้โรงเรียนแต่ละแห่งต้องหาทางแก้ปัญหา โดยจัดครูที่มิได้เรียนจบวิชาเอกหรือวิชาโทด้านภาษาอังกฤษมาช่วยสอน ซึ่งแม้จะพยายามศึกษาหาความรู้ฝึกฝนด้วยตนเองอย่างทุ่มเทมากมายก็ตาม แต่ครูอาจารย์เหล่านี้คงยากที่จะพูด ฟัง อ่าน และเขียนให้ถูกต้องใกล้เคียงเท่ากับการได้เล่าเรียนหรือฝึกฝนมาโดยตรงก่อนไปเป็นครู
2. วิชาภาษาอังกฤษเป็นวิชาเชิงทักษะ ที่ครูควรจะเป็นผู้ที่เข้าใจการใช้ภาษาและมีทักษะในการพูด การออกเสียงถูกต้องหรือใกล้เคียงกับผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน แม้พยัญชนะและสระของภาษาไทยจะใช้ได้ใกล้เคียงมากในการออกเสียงหรือพูดเป็นภาษาอังกฤษ แต่เสียงบางเสียงจะไม่เหมือนกัน เช่น เสียงตัว ch, th, v , z เป็นต้น และการเน้นพยางค์ในคำผิดที่จะทำให้ความหมายเปลี่ยนไป ลักษณะเช่นนี้ทำให้ครูภาษาอังกฤษต้องมีทักษะในการใช้ภาษาเป็นพิเศษ นอกเหนือจากการพูดคุย การเขียนภาษาอังกฤษก็จะมีวิธีคิดการเรียบเรียงข้อความต่างจากการเขียนภาษาไทย
3. การหาโอกาสให้เด็กๆ และครูอาจารย์ได้พบปะและเรียนรู้จากนักท่องเที่ยว โดยต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ ไม่สร้างความรำคาญซึ่งกันและกัน โดยประสบการณ์ของครูอาจารย์ที่ได้ลองดำเนินการเรื่องนี้ พบว่าเด็กๆ จะกระตือรือร้นหาทางพบปะพูดคุยกับนักท่องเที่ยวที่พอมีเวลา และเต็มใจพูดคุยกับกลุ่มเด็กๆ โดยมีอาจารย์ดูแลอยู่ด้วย บางสถานศึกษาก็หาทางเชิญเจ้าของภาษาที่พักอาศัยหรือทำงานในท้องถิ่นใกล้เคียงมาพูดคุยกับนักเรียนเป็นครั้งคราวโดยสมัครใจ หรือโดยมีค่าตอบแทนบ้างตามสมควร
4. กระบวนการในการสอน การเริ่มต้นและการลำดับขั้นความยากง่ายก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เด็กชอบหรือไม่ชอบภาษาอังกฤษ การสอนที่สนุกสนานสอดแทรกทั้งเรื่องพูด ฟัง อ่าน เขียน และให้หลักไวยากรณ์ในเรื่องที่ใกล้ตัวเด็ก การอ่านเรื่องง่ายๆ นิทานประกอบภาพง่ายๆ ให้เด็กฟัง หรือให้เด็กเลือกเรื่องมาอ่านเอง กิจกรรมการแสดงต่างๆ ที่เป็นภาษาอังกฤษ เป็นเรื่องที่จำเป็นและจะส่งผลให้เด็กๆ เห็นว่าภาษาอังกฤษเป็นเรื่องง่าย แต่ครูอาจารย์ที่สอนวิชาเชิงทักษะให้สนุกก็ยังหาไม่ง่ายนักในสถานการณ์ปัจจุบัน โรงเรียนจำนวนมากขาดสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ช่วยในการฝึกทักษะด้านนี้แก่เด็ก หรือสื่อที่มีก็จะเป็นสื่อที่ใช้กระบวนการไม่ทันสมัย โดยสื่อและอุปกรณ์ที่ต้องการเร่งด่วนมาก อาทิ เครื่องบันทึกเสียง เครื่องเล่นวีดิทัศน์ เครื่องรับโทรทัศน์ เอกสารสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องปฏิบัติทางภาษาที่ครูอาจารย์จะได้มีโอกาสเรียนรู้สำเนียง สาระ และวัฒนธรรมในการใช้ภาษาร่วมไปกับนักเรียนได้ด้วย
5. งบประมาณ เป็นเรื่องที่ทุกกลุ่มกล่าวถึงเป็นอย่างมากด้วยเป็นความจำเป็นที่ต้องพัฒนาครูอาจารย์ที่สอนภาษาอังกฤษ ทั้งที่ยังขาดพื้นฐานและที่เรียนมาตรง แต่ก็จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมให้ทราบกระบวนการเทคนิควิธีที่จะใช้ช่วยให้สอนได้น่าสนุก น่าสนใจ เข้าใจง่าย และเหมาะสมยิ่งขึ้น
6. การตั้งชมรมครูภาษาอังกฤษ เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
ประเด็นที่ได้รับฟังเหล่านี้ทำให้เห็นการจุดประกายความคิดริเริ่ม ความตั้งใจ และความเข้าใจของครูอาจารย์ที่เข้าร่วมการสัมมนาเป็นอย่างมาก ซึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้จะมิใช่เกิดที่จังหวัดสงขลาแห่งเดียว แต่จังหวัดอื่นๆ ก็คงจะใช้กระบวนการที่คล้ายคลึงให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษได้เช่นกัน ซึ่งในช่วงกล่าวปิดผมได้เสนอแนวคิดสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องไว้ 3 ประเด็น ดังนี้
1. นโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ในเรื่องนี้สนับสนุนให้ครูอาจารย์ต้องเริ่มต้นให้เด็กกล้าพูด กล้าเขียน กล้าแสดงออก ฯลฯ ส่วนข้อผิดพลาดบกพร่องนั้นค่อยๆ ขัดเกลา ปลูกฝัง แต่ขอให้ครูอาจารย์และเด็กเริ่มต้นด้วยการมีความเชื่อมั่นในตนเองก่อน พูดผิด พูดถูก พูดออกไปก่อน อย่ากลัวผิดจนไม่กล้าทำอะไร เชื่อว่าวิธีนี้จะเป็นวิธีหนึ่งที่เราจะได้เด็กๆ ที่ค่อยๆ มีความสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องจำนวนมากขึ้น และเร็วขึ้น
2. สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยภาคภาษาอังกฤษ สถานีวิทยุศึกษา สถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา(ETV) ของศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ รายการโทรทัศน์แบบจำกัดรับ(Cable TV) หรือรายการโทรทัศน์ที่สอนภาษาอังกฤษของสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมโรงเรียนวังไกลกังวล เครือข่ายอินเตอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษสำหรับประชาชนทั่วไปหรือสำหรับนักเรียน จะเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ดีและไม่ต้องลงทุนมากนัก นอกจากนี้ ยังมีองค์กรต่างๆ อาทิ British Council หรือ AUA หรือองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร เช่น UNICEF, มูลนิธิ AFS, ชมรมภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยต่างๆ และสถาบันราชภัฏ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลทั่วประเทศ พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือบางด้าน และน่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้หรือแหล่งพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่ดีด้วย
3. การตั้งชมรมครูภาษาอังกฤษเป็นเรื่องที่ดีมาก เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในการช่วยส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพของครูสอนภาษาอังกฤษ รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ข้อมูลข่าวสารด้านการเรียนการสอน และจะช่วยเป็นศูนย์กลางการประสานงานร่วมมือกับผู้ปกครอง
ในตอนท้ายพวกเราเรียนภาษาอังกฤษกันมานาน ส่วนที่ใช้ได้ก็มีอยู่ แต่ปัจจุบันและอนาคตภาษาต่างประเทศจะทวีความสำคัญมากขึ้น การพัฒนาตัวครูอาจารย์คงไม่ใช่เรื่องยาก แต่การดูแลช่วยพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยจำนวนมากนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความใจกล้า อดทน มุ่งมั่น ไม่ท้อถอยง่าย ให้เหมือนข้อความบนอกเสื้อยืดที่เห็นและจำได้ที่ว่า Something difficult takes time. Something impossible takes a little longer.
เชื่อว่า ต่อไปครูและเด็กๆ ของเราจะพูดภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษอยู่ในขั้นใช้การได้ดีแน่นอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น